เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 9. พาลปัณฑิตสูตร

อย่างนี้ว่า ‘ข้อที่ชนพูดถ้อยคำที่สมควรแก่ธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในเรา
และเราก็ปรากฏในธรรมเหล่านั้น’
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสประการที่ 1 นี้ในปัจจุบัน
[247] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง คนพาลเห็นพระราชารับสั่งให้จับโจร
ผู้ประพฤติผิดมาแล้ว ลงอาญาโดยประการต่าง ๆ คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ให้
เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ให้ตีด้วยไม้พลองบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและ
เท้าบ้าง ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและจมูกบ้าง วางก้อนเหล็กแดงบน
ศีรษะบ้าง ถลกหนังศีรษะแล้วขัดให้ขาวเหมือนสังข์บ้าง เอาไฟยัดปากจนเลือดไหล
เหมือนปากราหูบ้าง เอาผ้าพันตัวราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาบ้าง พันมือแล้วจุดไฟ
ต่างคบบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้าให้ลุกเดินเหยียบหนังจนล้มลงบ้าง ถลก
หนังตั้งแต่คอถึงบั้นเอว ทำให้มองดูเหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง สวมปลอกเหล็กที่
ข้อศอกและเข่าแล้วเสียบหลาวทั้ง 5 ทิศเอาไฟเผาบ้าง ใช้เบ็ดเกี่ยวหนัง เนื้อ
เอ็นออกมาบ้าง เฉือนเนื้อออกเป็นแว่น ๆ เหมือนเหรียญกษาปณ์บ้าง เฉือนหนัง
เนื้อ เอ็น ออกเหลือไว้แต่กระดูกบ้าง ใช้หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกันบ้าง เสียบ
ให้ติดดินแล้วจับเขาหมุนได้รอบบ้าง ทุบกระดูกให้แหลกแล้วถลกหนังออกเหลือไว้
แต่กองเนื้อเหมือนตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วยน้ำมันที่กำลังเดือดพล่านบ้าง ให้สุนัขกัด
กินจนเหลือแต่กระดูกบ้าง ให้นอนบนหลาวทั้งเป็นบ้าง ตัดศีรษะออกด้วยดาบบ้าง
ในขณะที่เห็นนั้น คนพาลมีความรู้สึกอย่างนี้ว่า ‘เพราะเหตุแห่งกรรมเช่นไร
พระราชาทั้งหลายจึงรับสั่งให้จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้วลงอาญาโดยประการต่าง ๆ
คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ตัดศีรษะออกด้วยดาบบ้าง ก็ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในเรา
และเราก็ปรากฏในธรรมเหล่านั้น ถ้าแม้พระราชาทั้งหลายพึงรู้จักเรา ก็จะรับสั่งให้
จับเราแล้วลงอาญาโดยประการต่าง ๆ คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ฯลฯ ให้นอน
บนหลาวทั้งเป็นบ้าง ตัดศีรษะออกด้วยดาบบ้าง1
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสประการที่ 2 นี้ในปัจจุบัน


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 9. พาลปัณฑิตสูตร

[248] อีกประการหนึ่ง ในสมัยนั้น บาปกรรมที่คนพาลทำ คือ การ
ประพฤติกายทุจริต การประพฤติวจีทุจริต การประพฤติมโนทุจริตไว้ในกาลก่อน
ย่อมหน่วงเหนี่ยวบดบัง ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง บนเตียง หรือนอนบนพื้น
เปรียบเหมือนเงาของยอดภูเขาใหญ่ ย่อมกั้น บดบัง ครอบคลุมแผ่นดินใหญ่
ในเวลาเย็น แม้ฉันใด ในสมัยนั้น บาปกรรมที่คนพาลทำ คือ การประพฤติกายทุจริต
การประพฤติวจีทุจริต การประพฤติมโนทุจริตไว้ในกาลก่อน ย่อมหน่วงเหนี่ยวบดบัง
ครอบงำคนพาลผู้อยู่บนตั่ง บนเตียง หรือนอนบนพื้น ฉันนั้นเหมือนกัน
ในเรื่องนั้น คนพาลมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เรายังไม่ได้ทำความดีไว้หนอ ยัง
ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำที่ป้องกันสิ่งน่ากลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ทำแต่กรรม
หยาบช้า ทำแต่กรรมเศร้าหมอง เราตายแล้ว จะไปสู่คติของผู้ไม่ได้ทำความดีไว้
ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำที่ป้องกันสิ่งน่ากลัวไว้ ทำแต่ความชั่ว ทำแต่กรรมหยาบช้า
ทำแต่กรรมเศร้าหมองนั้น’ เขาย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ
ถึงความหลงไหล
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลย่อมเสวยทุกขโทมนัสประการที่ 3 นี้ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นยังประพฤติกายทุจริต ประพฤติวจีทุจริต
ประพฤติมโนทุจริต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงนรกนั้นนั่นแหละว่า ‘เป็นสถานที่ไม่น่าปรารถนา
ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยส่วนเดียว’ ทุกข์นี้กับทุกข์ในนรกเปรียบเทียบกันไม่ได้”
[249] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์จะทรงอุปมาได้อีกหรือไม่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ได้ ภิกษุ” แล้วตรัสว่า “เปรียบเหมือนราชบุรุษ
ทั้งหลายจับโจรผู้ประพฤติผิดได้แล้ว จึงแสดงแก่พระราชาว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้เป็นโจร
ประพฤติผิดต่อพระองค์ ขอพระองค์จงทรงลงพระอาญาตามที่ทรงพระราชประสงค์
แก่โจรผู้นี้เถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :293 }